ในบทความนี้เราไม่ชวนกันมาม่าครับแต่จะมาขอแจกแจงๆ ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ที่ทางผมเองและนักดนตรีทุกคนต้องฝ่าฟันมาจน มาถึงจุดที่เรียกตัวเองได้ว่าเป็นนักดนตรีอาชีพ
ขอเริ่มท้าวความเล่าเรื่องไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการที่ทำให้คน 1 คนอยากจะเล่นดนตรีก่อนนะครับ
ผมเชื่อว่าวัยรุ่นทุกคนน่าจะเคยผ่านจุดที่ฟังเพลงที่ตัวเองชอบแล้วอยากเล่นดนตรีกันแทบทุกคน ซึ่งทุกคนจะจับเครื่องดนตรีหรือร้องเพลงกันได้สักพักแต่ทนความเหนื่อยยากในการซ้อมไม่ไหวบางคนอาจจะจับแค่ครั้งเดียวและเลิกเล่นไปตลอดชีวิตเลย แต่จะมีเด็กกลุ่มนึงประมาณไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถเล่นต่อไปได้อย่างต่อเนื่องจนเริ่มเล่นเป็น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดอาการเสพติดดนตรี(ผมก็เป็นอีกคนนึงที่เสพติดดนตรีต้องเล่นทุกวันวันละอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ตั้งแต่สมัยเรียนม. ต้นจนจบมหาวิทยาลัย) ถ้าไม่เล่นจะเกิดอาการกระวนกระวาย คั่นเนื้อคั่นตัว และเหมือนขาดบางอย่างในชีวิต มันเปลี่ยนจากความทุ่มเทตอนช่วงแรกของการฝึกกลายเป็นความรักความเอาใจใส่ การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่การฝึกฝนด้วยตนเองถึงทางตัน เด็กเหล่านั้นจะเสาะหาแหล่งที่เรียนเพื่อที่จะให้เขาเกิดการพัฒนาในทิศทางที่ตัวเองชอบ และแน่นอนว่าไม่มีที่ไหนสอนกันฟรี บางสถาบันแพงมากกว่าการเรียนในวิชาทั่วไปเสียด้วยซ้ำ เพื่อนผมบางคนหมดกับการเรียนดนตรีไปเหยียบล้าน ซึ่งผลที่ได้มันคุ้มค่ามาก สำหรับพวกเรา ซึ่งไม่ใช่ว่าการมีดนตรีนั้นจ่ายเงินแล้วจะสามารถร้องเพลงได้ดีหรือเล่นดนตรีได้ดีเลยการจ่ายเงินค่าเรียนดนตรีนั้นผลที่ได้ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่จ่ายไป แต่อยู่ที่การเอาใจใส่ในการฝึกฝนดนตรีอีกเช่นเคย ส่วนตัวผมนั้นไม่ได้เรียนดนตรีในสถานที่แพงๆเหมือนคนอื่นเขา แต่ก็เรียนดนตรีในระดับอุดมศึกษา ในทิศทางของดนตรีคลาสสิกแต่ด้วยความที่เราเริ่มต้นมาจากเพลง POP ทำให้เทสของเราสามารถไปได้ทั้งดนตรี Pop Rock Jazz จึงทำให้เกิดความสนใจที่หลากหลายทำให้การฝึกฝนของเราต้องมากขึ้นด้วย ตามความต้องการภายในจิตใจ อย่างผมหรือเพื่อนนักดนตรีหลายๆคนใช้เวลาฝึกวันละ 4 ถึง 8 ชั่วโมงทุกวันเป็นระยะเวลาหลายปี ตั้งแต่ช่วงที่เรียนม. ปลายจนเรียนจบมหาวิทยาลัย จนถึงตอนนี้ผมเองก็ยังเรียนดนตรีอยู่เลยครับเพราะว่าศาสตร์ด้านศิลปะมันไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ
ในเมื่อถึงเวลาที่เรียนจบ พร้อมออกมาทำงาน (ซึ้งๆ โดยส่วนตัวผมเล่นดนตรีอาชีพมาตั้งแต่ ม.6 แล้วครับ และเพื่อนหลายๆ คนก็เริ่มเล่นดนตรีอาชีพตอนอายุน้อยกันหลายคน) บ้างก็จบมาแล้วไม่เล่นดนตรีอาชีพเพราะถูกสั่งสอนว่าเป็นงานเต้นกินรำกินและไม่มีความมั่นคง จนยอมทิ้งความฝันในวัยเด็กของตัวเองไปกันเกินครึ่งของจำนวนนักเรียนดนตรีทั้งหมด คนที่ยังเหลือรอดอยู่คือ คนที่เชื่อในความฝันของตัวเองและความต้องการที่จะเล่นดนตรีอาชีพ จนไม่มีข้อแม้แม้ในส่วนของรายได้หรือคุณภาพชีวิตก็ตาม
แต่เมื่อได้ออกมาเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว นักดนตรีในเมืองไทยมีเยอะมากและต่างคนก็เก่งมาจากมุมมืดของแต่ละคนที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนักซึ่งเรารู้เลยว่าเราไม่ใช่แค่คนเดียวที่ฝึกมาอย่างหนัก ยังมีเพื่อนนักดนตรีอีกหลายร้อยคนที่ฝึกหนักเหมือนเราหรือบางคนยิ่งกว่าเราด้วยซ้ำ แต่น่าแปลกเหมือนมองตาเราก็รู้ใจว่าทุกคนผ่านอะไรมาบ้าง เพื่อนๆที่เป็นนักดนตรีที่มีระดับฝีมือสูงมักจะเข้ากันได้ดีอย่างน่าประหลาด ในด้านของการทำงานเราจะให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นมารยาทที่ดี และเป็นสังคมที่ดีในการทำงานทางด้านนี้เลยทีเดียว ซึ่งก็อาจจะมีบ้างที่มีเด็กเกรียนมาให้ได้พบเจอกันบ้างแต่ด้วยเวลาไม่นาน เขาก็หายจากไปอย่างไม่มีวันกลับ 555
โอเคและตอนนี้ก็ถือว่านักดนตรีทุกคนมีสกิลด้านดนตรีที่พร้อมกับการทำงานกันแล้ว ผมจะเล่าต่อในตอนที่ 2 รอติดตามกันได้ครับ
อ่านต่อ ตอนที่ 2