โดยทั่วไปแล้วคนทั่วไปจะไม่ทราบข้อแตกต่างระหว่างศิลปินและนักดนตรีอาชีพ เพราะในภาพลักษณ์ที่เห็นสิ่งที่สื่อสารการแสดงออกจะมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก แต่โดยเนื้อแท้ของงานแล้ว กระบวนการคิดทั้งสิ่งที่ปฏิบัตินั้นแตกต่างกันเกิน 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แม้ว่าจะคือการร้องเพลงเล่นดนตรีเหมือนกัน แต่หลักการคิดทัศนคติการปฏิบัติทิศทางการใช้ชีวิตแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในวันนี้เราจะมาอธิบายเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในความแตกต่างของ 2 อาชีพนี้
5 ข้อที่แตกต่างของศิลปินและนักดนตรีอาชีพ
Skill
ทั้งสองอาชีพนี้มีการใช้สกิลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ โดยอาชีพศิลปินนั้นจะใช้สกิลในด้านการพรีเซนต์ตัวตนออกมาอย่างชัดเจนและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผิดกับการใช้สกิลของนักดนตรีอาชีพที่จะต้องเน้นความกว้างของสไตล์ดนตรีเพื่อที่จะรับงานได้อย่างหลากหลาย แต่ก็มีมากเหมือนกันที่ศิลปินสามารถเล่นสไตล์เพลงได้กว้าง และก็มีบ้างที่นักดนตรีอาชีพเล่นเพลงแค่เฉพาะในสไตล์ที่ตัวเองถนัดเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้โดยปกติแล้วก็จะดูเป็นงานๆ ไปว่างานนั้นเขาขายความเป็นศิลปินหรือขายความเป็นนักดนตรีอาชีพ
เรทราคา
เพราะการเป็นศิลปินคือการขายตัวตนของตัวเอง ซึ่งการขายตัวตนนั้นมีข้อดีคือบนโลกนี้เราคือเราแค่คนเดียว ทำให้คนที่จะซื้อตัวเราต้องยอมจ่ายในราคาที่มากกว่าการซื้อนักดนตรีทั่วๆ ไปที่ไม่ได้มีสไตล์ไม่ได้มีความเป็นตัวตนสูงมากนัก ทำให้การขายงานในแต่ละครั้งของศิลปินจะมีเรทราคาที่สูงมากกว่านักดนตรีทั่วๆ ไป แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งคือถ้าศิลปินคนนั้นไม่ได้รับความนิยมหรือไม่ได้มีฐานลูกค้าที่มากเพียงพอ อัตราการจ้างงานจะอยู่ในระดับที่ต่ำมากและในหลายท่านมีรายได้ต่ำกว่านักดนตรีมากมายเลยทีเดียว แค่ว่าศิลปินมีอัตราการจ้างงานต่อ 1 ครั้งมากกว่านักดนตรีโดยทั่วไปแต่โดยภาพรวมแล้วรายได้ใครจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอีกเช่นกัน
ทัศนคติ
นอกจากเรื่องของสกิลที่แตกต่างกันแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างของนักดนตรีอาชีพและศิลปินคือเรื่องของทัศนคติ เช่นทัศนคติการเลือก เพราะการเล่นดนตรีนั้นสามารถแตกย่อยเพลง 1 เพลงกลายเป็นสิ่งต่างๆ ได้มากมายในหนึ่งเพลงนั้นสามารถทำอะไรกับมันก็ได้ ซึ่งทัศนคตินั่นแหละที่จะทำให้ตัวผู้เล่นเลือกว่าเขาจะเป็นอะไร สำหรับคนที่เป็นศิลปินแล้วเขาจะเลือกสิ่งที่เขาเล่นจากสิ่งที่ชอบ โดยตัวตนล้วนๆ โดยไม่สนว่าคนโดยส่วนรวมจะชอบหรือไม่ ซึ่งผิดกับนักดนตรีอาชีพที่ต้องการให้ทุกอย่างออกมาแมสมากที่สุดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยง่าย แต่โดยปกติแล้วศิลปินโดยส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะสามารถนำ 2 สิ่งนี้เข้ามาผสมผสานกันได้อย่างลงตัวเพื่อสร้างตัวตนของตัวเอง ที่ชัดเจนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการฟังผู้คนในภาพรวมได้
การจัดโชว์
ศิลปินโดยส่วนใหญ่นั้นจะมีเซ็ตการโชว์เป็นของตัวเองที่จะมีระยะเวลาตั้งแต่ 45 นาทีไปจนถึงไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อทำให้โชว์ ณ ช่วงเวลานั้นไม่นานจนเกินไป จนเกิดความน่าเบื่อหน่ายเพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่จะต้องทำให้เข้มข้นที่สุด ซึ่งผิดกับนักดนตรีอาชีพที่ยืดหยุ่นเรื่องของระยะเวลาได้ ถึงแม้ว่าอาจจะทำให้โชว์นั้นเกิดความยืดเยื้อมีช่วงที่ไม่น่าจดจำหรือหลุดจากความน่าสนใจของผู้ฟังไปบ้างบางช่วง แต่นักดนตรีอาชีพที่ดีก็จะสามารถคุมภาพรวมของงานให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้เพราะ concept การเล่นดนตรีของศิลปินและนักดนตรีอาชีพนั้นแตกต่างกัน ศิลปินต้องเป็นจุดสนใจและเป็นกิมมิกของงานเพื่อดันให้งานนั้นได้บรรยากาศของความเป็น popular ซึ่งผิดกับ คอนเซ็ปการเล่นดนตรีของนักดนตรีที่อาจเล่นเพื่อแค่สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับงาน หรือสร้างความสนุกโดยที่ไม่ต้องขายความเป็นตัวตนของนักดนตรีมากนัก
การวางตัว
แน่นอนว่าศิลปินย่อมมีการวางตัวที่เว้นระยะห่างกับผู้ฟังประมาณนึง เพื่อความปลอดภัยของตัวศิลปินเอง เพราะว่าศิลปินบางท่านมีแฟนเพลงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับตัวศิลปินเองได้ในแง่มุมต่างๆซึ่งผิดกับนักดนตรีที่โดยส่วนใหญ่แล้วจะวางตัวสบายๆ เข้ากันได้กับทุกคน เพราะว่าไม่ได้มีฐานแฟนคลับมากมายจน ต้องระแวงเรื่องความปลอดภัย แต่ในยุคนี้นั้นศิลปินพยายามที่จะเข้าถึงตัวแฟนคลับให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้รากฐานแฟนคลับนั้นแข็งแรงเหนียวแน่น เพราะจะมีผลกับการเผยแพร่ผลงานของตัวเองในครั้งต่อๆ ไปแล้วทำให้การขายงานนั้นมีฐานแฟนคลับที่ขายได้ อยู่บ้านแล้วในกลุ่มนึงซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวศิลปินเอง
และนี่คือข้อมูลบางส่วนที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างศิลปินและนักดนตรีอาชีพ ถ้าเปรียบดั่งภาพวาดก็เหมือนกับศิลปินหรือช่างฝีมือ ที่ศิลปินอาจจะวาดภาพที่มีเอกลักษณ์สไตล์ของตัวเอง ที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนได้ หรืออาจจะลอกเลียนได้แต่เขาเป็นเบอร์ 1 ทางด้านนี้ของเขาเอง หรืออาจจะเป็นแค่คนทำคนแรก แต่หากเป็นช่างฝีมือเขาอาจจะเก่งทุกทางทำได้ทุกอย่างในบางครั้งอาจทำได้ดีกว่าศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่านด้วยซ้ำ แต่หากช่างฝีมือไม่ได้เป็นที่จดจำ ไม่ได้สร้างแนวทางของตัวเองต่อให้เก่งแค่ไหนเขาก็จะมีชื่อในนามช่างฝีมือ จนเคยมีเพื่อนผมบางคนบอกว่า "ศิลปินที่ไม่มีผลงานของตัวเอง ไม่ได้เรียกว่าศิลปิน"